top of page
ค้นหา

เด็กหลอดแก้ว ทำอย่างไร-สรุปง่ายๆ ด้วย 8 ขั้นตอน



เด็กหลอดแก้ว ถือว่าเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานในประเทศเราและไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่อะไรแล้วค่ะสำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ยังคงได้รับความนิยมอยู่สำหรับครอบครัวที่มีบุตรยากในปัจจุบันและยังคงได้รับความสนใจอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น ในบทความนี้ครูก้อยจะมาอธิบายค่ะว่า วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว คืออะไร มีขั้นตอนแบบไหนบ้าง เพื่อคลายความสงสัยให้กับครอบครัวที่กำลังตัดสินใจอยู่นะคะ


เด็กหลอดแก้ว คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง?


คู่สมรสหลายคู่ที่มีปัญหาผู้มีบุตรยากปล่อยธรรมชาติมาเกิน 1 ปี แล้วไม่ประสบความสำเร็จ โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุอย่างเช่น อายุมาก และไข่หรืออสุจิที่ไม่สมบูรณ์ไม่แข็งแรง ดังนั้นวิวัฒนาการทางการแพทย์จึงได้มี “การทำเด็กหลอดแก้ว” ซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้คู่สมรสมีโอกาสมีบุตรได้ง่ายขึ้น จึงนับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก


การทำเด็กหลอดแก้ว คืออะไร ?


ก็คือตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ซึ่งไม่ใช่วิธีทางธรรมชาติ โดยที่มาของคำว่าเด็กหลอดแก้วนั้นเกิดจากการที่ขั้นตอนในการปฏิสนธิระหว่างสเปิร์มและเซลล์ไข่ จะต้องทำในหลอดทดลองที่มีลักษณะเป็นหลอดแก้ว จึงถูกเรียกว่าเด็กหลอดแก้วนั่นเอง และเนื่องจากเป็นวิธีที่เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้ จึงทำให้ผู้คนที่มีบุตรยากนิยมหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีนี้มากขึ้น


การทำเด็กหลอดแก้วเหมาะกับใครบ้าง?


การทำเด็กหลอดแก้วไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะหากคู่ไหนมีบุตรได้ตามปกติด้วยวิธีธรรมชาติ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ แต่เด็กหลอดแก้ว อาจเหมาะกับคนที่มีความผิดปกติดังต่อไปนี้


  • คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย

  • ฝ่ายชายเชื้ออสุจิมีจำนวนน้อย ไม่แข็งแรง หรือเคลื่อนที่ไม่ดี

  • คู่สมรสที่พยายามมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมาแล้ว 3 ปี แต่ยังคงไม่สามารถมีบุตรได้โดยไม่ทราบสาเหตุ

  • คู่สมรสที่ได้รับการทำด้วยวิธี IUI มาแล้วหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ

  • คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป

  • คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง PCOS


วันนี้ครูก้อยได้รวบรวมขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้วมาให้แม่ๆ แบบรวบรัด จากการศึกษาค้นคว้าและประสบการณ์ตรงของตัวเอง ให้แม่ๆได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ มีขั้นตอนอะไรบ้าง? ตามมาดูขั้นตอนกันเลยค่ะ


8 ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มีอะไรบ้าง?


สำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่ท่านไหนที่กำลังสงสัยว่าการทำเด็กหลอดแก้วมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ครูก้อยสามารถสรุปให้ได้ทั้งหมดหลักๆ 8 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


1. ฉีดกระตุ้นไข่


การฉีดกระตุ้นไข่ก็เพื่อทำให้ไข่ในรังไข่มีการเจริญเติบโต และมีจำนวนฟองไข่มากกว่าธรรมชาติ (โดยธรรมชาติ จะมีการฟองไข่โตขึ้นมาฟองเดียวในแต่ละรอบเดือน) จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้ไข่จำนวนมากสำหรับไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ จนได้เป็นตัวอ่อน ( embryo ) การที่ได้ตัวอ่อนจำนวนมากก็จะทำให้เราใส่ตัวอ่อนเข้าในโพรงมดลูกได้มากกว่า 1 ตัวอ่อน ดังนั้นโอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะมีมากขึ้น และบางครั้งยังเหลือตัวอ่อนเก็บแช่แข็งเพื่อใช้ต่อในรอบถัดไปได้ด้วยนั่นเองค่ะ


ขั้นตอนของการกระตุ้นไข่นี้ จะใช้เป็นยาฉีด ซึ่งเป็นฮอร์โมนเลียนแบบฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง เมื่อร่างกายได้รับฮอร์โมนนี้ก็จะไปกระตุ้นโดยตรงที่รังไข่ เพื่อให้มีการผลิตฟองไข่มากขึ้น โดยทั่วไปจะฉีดยาประมาณ 8-12 วัน เริ่มตั้งแต่ประจำเดือนมาวันที่ 2-3 ของรอบเดือน ปริมาณยาที่ใช้ และจำนวนวันในการฉีดขึ้นกับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญคืออายุ ถ้าอายุมากการตอบสนองต่อยาไม่ค่อยดีมักต้องใช้ปริมาณยาเยอะ และจำนวนวันฉีดมากกว่าคนที่อายุน้อย


ระหว่างที่ทำการฉีดยา ต้องมีการตรวจวัดขนาดไข่เป็นระยะโดยการตรวจ อัลตร้าซาวด์เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการปรับยาให้เหมาะสมกับขนาดฟองไข่ ป้องกันการตกไข่ก่อนเวลา และยังเป็นการป้องกันการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน ( ovarian hyperstimulation ) อีกด้วย


2. เก็บไข่


เมื่อฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 36 ชั่วโมงก็จะทำการเก็บไข่ที่เรากระตุ้นออกมานอกร่างกาย เพื่อนำไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ วิธีการจะต้องใช้เข็มยาวเจาะผ่านทางช่องคลอด แล้วดูดไข่ออกมา โดยมีการอัลตร้าซาวด์เป็นตัวช่วยบอกตำแหน่งของไข่ การทำขั้นตอนนี้ต้องให้ยาสลบเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย ไม่รบกวนในขณะที่เก็บไข่ ใช้เวลาเก็บไข่ประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยนอนพัก 1 – 2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ เมื่อเก็บไข่ได้แล้ว จะนำไปไว้ในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อเตรียมปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิต่อไป


3. เก็บเชื้ออสุจิ


ก่อนการเข้ารับการตรวจเก็บเชื้ออสุจิคนไข้ควรงดเว้นกิจกรรมทางเพศเป็นอย่างน้อย 3 วันก่อนวันตรวจแต่ไม่เกิน 7 วัน การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจเก็บเชื้ออสุจิจะส่งผลให้ประมาณของน้ำอสุจิและปริมาณของสเปิร์มลดน้อยลงแต่หากมากกว่า 7 วันจะส่งผลให้เกิดการตายของสเปิร์มที่โตเต็มวัยซึ่งส่งผลต่อผลการวิเคราะห์ได้เช่นกัน


การเก็บอสุจิเพื่อการตรวจวิเคราะห์ ควรเก็บโดยการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง โดยทำความสะอาดมือและอวัยวะเพศก่อนเก็บ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย แต่หากคุณผู้ชายไม่สามารถเก็บน้ำอสุจิได้ด้วยตัวเอง อาจให้ภรรยาช่วยเก็บได้โดยการทำออรัลเซ็กซ์ หรือมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา แล้วหลั่งน้ำอสุจิใส่กระป๋องส่งห้องปฏิบัติการ แต่วิธีการดังกล่าวอาจมีผลต่อการตรวจวิเคราะห์ เพราะจะมีการปนเปื้อนของเซลล์เยื่อบุผิว (Epithelial Cell) หรือเชื้อแบคทีเรีย และห้ามใช้ถุงยางอนามัย ในการช่วยเก็บน้ำอสุจิ เพราะภายในถุงยางอนามัยจะมีสารหล่อลื่นที่เป็นอันตรายและทำให้อสุจิตายได้ หลังจากนั้นจะมีการการเตรียม "เชื้ออสุจิ" เป็นการ "คัดเชื้อ" เพื่อให้ได้ตัว "เชื้ออสุจิ" ที่มีคุณสมบัติดีพบที่จะปฏิสนธิกับไข่โดยใช้ "ตัวอสุจิ" ขนาดความเข้มข้นประมาณ 100,000 ตัวต่อไข่ 1 ใบ


4. เลี้ยงตัวอ่อน


การเลี้ยงตัวอ่อน หรือที่เรียกว่า บลาสโตซิสท์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) เป็นกระบวนการที่ทำหลังจากการเก็บไข่ โดยนำไข่ผสมกับอสุจิและมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น กระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน ทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีการควบคุมในห้องปฏิบัติการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในทุก ๆ กระบวนการ เลี้ยงตัวอ่อน โดยจะเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 3-5 วัน ซึ่งวันที่ 3 ของการเลี้ยงจะเป็นระยะของการแตกเซลล์ วันที่ 5 จะเป็นระยะบลาสโตซิสท์


ตัวอ่อนเจริญเติบโตสู่ระยะบลาสโตซิสท์ Blastocyst เป็นระยะที่เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นและมีพัฒนาการถึงการแยกชั้นของกลุ่มเซลล์ เป็นระยะที่พร้อมสำหรับการฝังตัวที่มดลูก ในห้องปฏิบัติการหลายแห่งเลือกจะใส่ตัวอ่อนในระยะนี้


ในขั้นนี้อาจมีการคัดโครโมโซมของตัวอ่อนด้วยเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซมซึ่งมักจะทำขั้นตอนนี้เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป


5. เตรียมผนังมดลูก


เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการทำเด็กหลอดแก้ว หากผนังมดลูกพร้อมในการฝังตัว โอกาสประสบความสำเร็จ ก็จะสูงตามไปด้วย ผนังมดลูกที่เหมาะสมในการฝังตัว ต้องมีลักษณะดังนี้


1. หนา 8-10 มิลลิเมตร (ไม่ควรหนาเกิน 14 มิลลิเมตร)

2. เรียง 3 ชั้นสวย ผิวเรียบ เห็นเส้นกลางชัดเจน

3. ใสเป็นวุ้น (ไม่หนาทึบ)


การเตรียมผนังมดลูกนั้นอยู่ที่ตัวว่าที่คุณแม่เองที่จะต้องดูแลร่างกายทานอาหารที่บำรุงผนังมดลูก ซึ่งควรเตรียมตัวมาอย่างน้อยล่วงหน้า 3 เดือนก่อนการเก็บไข่ หลังเก็บไข่แล้วก็ต้องยิ่งบำรุงเพื่อเตรียมผนังมดลูกให้หนาและเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวได้


6. ย้ายตัวอ่อนใส่โพรงมดลูก


เมื่อเลี้ยงตัวอ่อนจนได้ระยะที่เหมาะสมแล้วก็จะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก

สำหรับการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก สามารถเลือกทำได้ 2 แบบ คือการ

ย้ายตัวอ่อนรอบสด กับ รอบแช่แข็ง


  • การย้ายตัวอ่อนรอบสด หรือ Fresh Cycle


เป็นการย้ายตัวอ่อนในรอบที่ทำการกระตุ้นและเก็บไข่ คือหลังจากเก็บไข่ และนำมาปฎิสนธินอกร่างกายกับอุสจิแล้ว ก็จะเลี้ยงตัวอ่อนจนที่อยู่ในระยะ 2-3 วัน หรือระยะ Blastocyst ถ้าตัวอ่อนเติบโตดี แข็งแรง แพทย์ก็จะนัดคนไข้มาย้ายตัวอ่อนที่คัดเลือกแล้วเข้าสู่โพรงมดลูกหลังจากนั้น


  • การย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง หรือ Frozen Cycle


เป็นการย้ายตัวอ่อนในรอบที่มีการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก โดยใช้ตัวอ่อนที่แช่แข็งมาละลาย แล้วจึงย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกที่เตรียมพร้อมไว้


เมื่อก่อนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกมักจะทำรอบสดเป็นหลัก เพราะเทคนิคการแช่แข็งตัวอ่อน รวมถึงการละลายยังไม่ดีนัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ก้าวหน้าไปมาก การแช่แข็งและการทำละลายได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นต้องอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญของทางคลินิกที่รักษามีบุตรยากด้วย ส่วนการจะเลือกใช้วิธีไหนขึ้นอยู่ปัจจัยหลายๆ อย่างด้วย


7. แช่แข็งตัวอ่อนที่เหลือ


หลังจากผ่านกระบวนการเก็บไข่และการปฏิสนธิจนได้ตัวอ่อน ถ้ามีตัวอ่อนจำนวนมากกว่า 3-4 ตัวซึ่งมากเกินปริมาณตัวอ่อนที่จะใส่กลับเข้าโพรงมดลูก หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถใส่ตัวอ่อนได้ในรอบที่กระตุ้นไข่ ก็จะทำการแช่แข็งตัวอ่อนเอาไว้ โดยตัวอ่อนจะอยู่ในหลอดพลาสติกและเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็นจัด ตามวิธีมาตรฐานการเก็บรักษาตัวอ่อน หากไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรกก็สามารถละลายตัวอ่อนนำมาใช้ในคราวถัดไป


8. ตรวจการตั้งครรภ์


เมื่อใส่ตัวอ่อนกลับในโพรงมดลูกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาเพื่อเจาะเลือดเพื่อเช็คผลการตั้งครรภ์ค่ะ


การทำเด็กหลอดแก้วนั้นต้องเตรียมความพร้อมอย่างมากค่ะ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการบำรุงไข่และบำรุงสเปิร์มให้แข็งแรงอย่างน้อย 3 เดือนก่อนไปเก็บไข่และอสุจิ อีกทั้งว่าที่คุณแม่ต้องบำรุงผนังมดลูก เตรียมผนังมดลูก ให้พร้อมก่อนรับการย้ายตัวอ่อนกลับมาอีกด้วย


ครูก้อยแนะนำให้รับประทานอาหารที่บำรุงไข่และผนังมดลูกล่วงหน้า 3 เดือนเพราะเมื่อเราเก็บไข่ไปแล้ว ระยะเวลาในการกลับมาเตรียมผนังมดลูกอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ผนังมดลูกอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ตัวอ่อนจะฝังตัวได้ เสียทั้งใจ เสียทั้งเวลาค่ะ


การเตรียมไข่ ผนังมดลูก และสเปิร์มให้พร้อมจะทำให้เราได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี ถึงชั้นบลาสโตซิสต์ มีผนังมดลูกที่หนา ใส เป็นไปตามเกณฑ์ให้ตัวอ่อนมาฝังตัว คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีลูกสมดังหวังค่ะ


บทความที่น่าสนใจ



ดู 85 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page