เมื่อไหร่คู่เราควรปรึกษาแพทย์เรื่องมีบุตรยาก
ปรึกษาปัญหามีบุตรยาก ที่ Line Official คลิกลิ้งค์นี้เลย
https://lin.ee/fBa4xkz
คู่สมรสหลายคู่ที่กำลังพยายามปั๊มเบบี๋ อยากมีทายาทสักคน แต่ก็ล่วงเลยเวลามานานเจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มา ควรหันมาจริงจังและสำรวจตัวเองกันนะคะว่า เอ๊ะ
นี่เราอยู่ในภาวะผู้มีบุตรยากหรือเปล่า
บางคู่ก็กำลังคิดอยู่ใช่มั้ยคะว่าเราควรจูงมือกันไปปรึกษาแพทย์ไหม
และควรจะไปตอนไหนดีล่ะ
เราไปสำรวจตัวเองตาม checklist นี้กันค่ะ ถ้าเข้าเกณฑ์ครบล่ะก็อย่ารีรอค่ะ ปล่อยไว้นานไปไม่ดีแน่ค่ะ ควรรีบดูแลร่างกายและปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษา เพื่อจะได้มีเจ้าตัวน้อยมาเร็วๆไงคะ
#ภาวะมีบุตรยากในทางการแพทย์ หมายถึง…..
การที่คู่สมรสไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้
โดยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง
และไม่ได้คุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปี
หรือระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป
เช็คง่ายๆตามนี้เลยค่ะ หากใช่เราครบ 1 ปีแล้วยังไม่ท้องแสดงว่ามีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วค่ะ จัดว่าเป็นผู้มีบุตรยาก
แต่ถ้าอายุฝ่ายหญิงเกิน 35 แล้วไม่ต้องรอ 1 ปีค่ะ เพราะอายุ 35 คือช่วงขาลงของวัยเจริญพันธุ์แล้วค่ะ ถ้ายังไม่ท้อง แค่ 6 เดือนก็จูงมือกันไปพบแพทย์เลยค่ะ
การไปพบแพทย์ต้องไปปรึกษาแพทย์ผู้มีบุตรยากนะคะ ไม่ใช่แพทย์ทั่วไป กรณีมีบุตรยากแพทย์จะตรวจอย่างละเอียดค่ะ ไม่ใช่แค่ตรวจสุขภาพทั่วไปแต่จะตรวจฮอร์โมนทุกอย่างที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ระบบการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งหญิงชายเพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียด
#สาเหตุจากฝ่ายชาย
สาเหตุจากฝ่ายชายเท่าที่มีรายงานภาวะมีลูกยาก จะพบประมาณร้อย ละ 20-30 ซึ่งสามารถพิสูจน์ทราบได้โดยการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis) เป็นการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา หรือ อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจหา กรณีที่ผลออกมาผิดปกติ กรรมวิธีการรักษาจะข้ามขั้นตอนไปทำ “อิ๊กซี่” หรือ “เด็กหลอดแก้ว” ได้
กรณีที่ผลออกมาปกติ ต้องทดสอบคุณสมบัติของตัวอสุจิต่อไป โดยตรวจดูความสามารถของตัวอสุจิในมูกปากมดลูก ตรวจว่าตัวอสุจิสามารถอยู่รอดและเคลื่อนไหวในมูกปากมดลูกได้หรือไม่ การทดสอบนี้จะช่วยบอกได้ว่าปัญหาอยู่ที่ปากมดลูกหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาภูมิต้านทานต่อตัวอสุจิซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก
ปัญหาที่พบได้บ่อย ได้แก่ จำนวนสเปิร์มน้อย การเคลื่อนไหวแหวกว่ายผิดปกติ ท่อนำเชื้อหรือท่อปัสสาวะตีบตัน โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การติดเชื้อ หรือผิดปกติตั้งแต่กำเนิดในระบบสืบพันธุ์ บางรายพบว่าสาเหตุเกี่ยวข้องกับความอ้วน ภาวะทุพโภชนา ความเครียด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผลต่อความแข็งแรงของเชื้ออสุจิ
ผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อชนิดขาดฮอร์โมนเพศชายจะมีปัญหาการมีบุตร ยาก เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Klinefelter’s syndrome ซึ่ง โครโมโซมเพศจะมีลักษณะ XXY พัฒนาการของลูกอัณฑะผิดปกติ การสร้างตัว อสุจิลดน้อยลง และระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลง
โรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยากที่สำคัญได้แก่ โรคหนองในแท้ และโรคติดเชื้อคลามัยเดีย ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่พบได้บ่อย การติดเชื้อทำให้ทางเดินน้ำอสุจิเกิดภาวะตีบแคบ และมีผลต่อการสร้างตัวอสุจิ อีกด้วย
#สาเหตุจากฝ่ายหญิง
สาเหตุจากฝ่ายหญิงพบได้ประมาณร้อยละ 40 – 50 การทำงานของ ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อ ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนทำให้ไม่มีการตกไข่ ผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี พบท่อรังไข่อุดตัน พังผืด เนื้องอกในมดลูก หรือ เยื่อบุผนังมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
#การตรวจเพื่อหาสาเหตุจากฝ่ายหญิง
ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการตรวจคุณสมบัติของมูกปากมดลูก เช่นตรวจ ความเป็นกรด-ด่าง การทดสอบหลังมีเพศสัมพันธ์ ตรวจการตกผลึกเป็นรูปเฟิร์น และ การยืดตัวในช่วงไข่ตก รวมทั้งการเพาะเชื้อ เป็นต้น
ตรวจประเมินสภาพของมดลูก โดยการฉีดสีเข้าโพรงมดลูก การส่องกล้องเข้าไปดูภายในโพรงมดลูก การเจาะท้องส่องกล้องดูพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน การขูดมดลูกเพื่อตรวจสอบการตกไข่ และการทำงานของรังไข่
การตรวจสอบสภาพของปีกมดลูกเพื่อดูว่ามีการอุดตันหรือไม่ โดยการฉีดสีเข้าโพรงมดลูกและเอ็กซเรย์ การเจาะท้องส่องกล้องร่วมกับการฉีดสีเข้าทางปากมดลูก การฉีดลมผ่านเข้าโพรงมดลูกและให้ผ่านออกทางปีกมดลูก และการฉีดของเหลวทางปากมดลูก พร้อมกับตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด เพื่อดูการผ่านของของเหลวในปีกมดลูกเข้าไปสะสมที่อุ้งเชิงกรานส่วนต่ำสุด
การประเมินสภาพของรังไข่โดยการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน (FSH, LH, Estradiol, Progesterone) และติดตามดูอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเป็น ระยะๆ เพื่อให้ทราบว่ามีการตกไข่หรือไม่ การทำงานของรังไข่ก่อนและหลังไข่ ตกเป็นอย่างไร อาจตรวจโดยวิธีอ้อม เช่น การวัดอุณหภูมิกายพื้นฐาน การขูดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกมาตรวจเพื่อดูการทำงานของรังไข่ภายหลังไข่ตก เป็นต้น
#ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ
ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ หมายความว่า คู่สามีภรรยาที่มีลูกยากนั้นได้ทดสอบทุกวิธีกระบวนการหาสาเหตุเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่พบความผิดปกติทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสาเหตุจริงๆ บางทีต่อไปเมื่อมีเครื่องมือทดสอบที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสค้นหาสาเหตุได้ 10 ปีที่ผ่านมาอุบัติการนี้จะพบประมาณร้อยละ 10-20 ปัจจุบันในบางสถาบันอุบัติการได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
เห็นมั้ยคะว่าสาเหตุการมีบุตรยากนั้นมาจากหลายปัจจัยซึ่งต้องได้รับการตรวจหาและรักษาต่อไป จึงไม่ควรรีรอที่จะไปปรึกษาแพทย์
สิ่งที่สำคัญคือหากคู่ของคุณต้องใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้าช่วย แม่ๆ สามารถดูแลร่างกายให้พร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกาย บริหารความเครียด ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ถูกวิธีบวกกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย แม่ๆก็จะได้มีลูกน้อยสมใจไม่นานเกินรอค่ะ