top of page
ค้นหา

20 ข้อห้ามหลังใส่ตัวอ่อน

รู้หรือไม่ว่าหลังจากใส่ตัวอ่อนเข้าไปจะต้องปฏิบัติตาม 20 ข้อห้ามที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าถ้าไม่ปฏิบัติแล้วอาจส่งผลเสียต่อตัวอ่อนได้ วันนี้ครูก้อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ


หลังใส่ตัวอ่อนแล้วห้ามทำอะไรบ้าง


1. ห้ามนอนติดเตียง


การนอนติดเตียงจะทำให้ว่าที่คุณแม่รู้สึกเมื่อยเนื้อตัวและเครียดง่ายกว่าปกติ ซึ่งความเครียดเป็นภัยร้ายที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน แม้ว่าจะเน้นให้พักผ่อนเยอะๆ มากกว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ ก็ตามแต่ ทั้งนี้ควรเตรียมซีรีย์เกาหลีไว้ให้พร้อมแล้วค่อยดูหนังให้สบายใจ โดยเฉพาะหนังตลก, หนังรักโรแมนติก หรือแม้แต่สารคดีสัตว์โลกน่ารักก็น่าสนใจไม่น้อยนะคะ


ครูก้อยแนะนำว่าช่วง 3 วันแรก เน้นนอนพักผ่อนยาวๆ ไปเลยค่ะ ส่วน 7 วันหลังจากนั้นค่อยผ่อนคลายได้บ้าง (ถ้าทำได้ครูก้อยแนะนำนอนเยอะๆ ประมาณ 10 วันค่ะ) ไม่จำเป็นต้องนอนติดเตียงชนิดที่ว่ามองเพดานทั้งวันทั้งคืนนะคะ ควรลุกเดินบ้างหลังอาหารเพื่อให้อาหารย่อย แต่ทุกอย่างต้องทำเบาๆ แบบระมัดระวังสุดๆ และที่สำคัญห้ามทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องเกร็งหน้าท้องเด็ดขาด เช่น ยกของขึ้นสูง หรือออกกำลังกายด้วยท่าแพลงกิ้ง นอกนั้ทำได้หมดค่ะ


2. ห้ามยกของหนัก


การยกของหนักเป็นสิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดเพราะจะทำให้มดลูกเกร็งตัว ส่งผลรบกวนต่อการฝังตัวของตัวอ่อน เอาเป็นว่าอยากได้อะไรในช่วงนี้ให้เรียกใช้สามีไปก่อนเลยค่ะ แล้วอย่าลืมให้รางวัลสามีด้วยการหอมแก้มจุ๊บสักทีสองทีด้วยนะคะ


3. ห้ามทำการบ้าน


ช่วงนี้งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนถึงวันที่นัดเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนตั้งครรภ์ Hcg เพื่อไม่ให้รบกวนการฝังตัวของตัวอ่อนในช่วงนี้ แต่สำหรับครูก้อยแนะนำว่า ควรงดไปก่อนแม้ว่าจะเจอการตั้งครรภ์แล้วก็ตาม ให้ผ่านช่วงสามเดือนแรกไปก่อนจะดีที่สุด เนื่องจากเราท้องยากกว่าคนท้องตามธรรมชาติ ทางที่ดีควรคุยกับสามีให้เข้าใจ ขอให้เบบี๋เกาะแน่นๆ ก่อนนะคะ


4. ห้ามยืนหรือเดินนานๆ


การเดินหรือยืนนานๆ รวมถึงการขึ้น-ลง บันไดบ่อยๆ อาจทำให้มดลูกเกร็งและบีบตัว ส่งผลรบกวนต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ทางที่ดีควรเดินให้น้อยลงและนอนพักให้มาก ขึ้นลงบันไดเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น


5. ห้ามออกกำลังกาย


การออกกำลังกายจะทำให้มดลูกเกร็งและบีบตัวได้เช่นกัน หากรุนแรงอาจถึงขั้นเกิดแรงกระแทกจนทำให้ตัวอ่อนหลุด ดังนั้นควรงดการออกกำลังกายยาวไปก่อนอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไปค่อยกลับมาออกก็ยังไม่สายค่ะ


6. ห้ามขับรถ


การขับรถเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มดลูกเกร็งและบีบรัดตัว ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบคันเร่ง, เหยียบเบรกกระทันหัน หรือหมุนพวงมาลัยในช่วงเวลาคับขัน เพราะการขับรถนั้นเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อไหร่ อาจจะมีรถมาชนท้ายหรือขับตัดหน้าเรา จนต้องเบรกกระทันหันและเกิดการกระทบกระเทือนต่อตัวอ่อนได้ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการขับรถเองก่อนในช่วงนี้ และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลด้วย


7. ห้ามท้องผูก


เมื่อคุณแม่ท้องผูก ทำให้ต้องนั่งโถนานและต้องเบ่งท้อง จนมดลูกบีบรัดตัวและรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้นครูก้อยขอแนะนำให้ทานอาหารที่ย่อยง่าย, อาหารอ่อน และผักผลไม้ที่มีกากใยสูงเพื่อให้ขับถ่ายสะดวก เช่น กล้วยสุก, มะม่วงสุก, มะละกอสุก, น้ำอินทผลัม, น้ำพรุน รวมถึงดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (ประมาณ 2-3 ลิตร) เน้นดื่มน้ำไม่เย็นนะคะ เพราะจะทำให้มดลูกเราไม่เย็น และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัดซึ่งส่งผลให้ท้องผูกง่าย และหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์เหนียวๆ หรือมะม่วงดิบ ให้เปลี่ยนมาทานเนื้อปลาแทนค่ะ


8. ห้ามท้องเสีย


เนื่องจากลำไส้อยู่ใกล้มดลูกมาก หากท้องเสียขึ้นมาอาจทำให้ลำไส้บีบรัด ส่งผลให้มดลูกบีบรัดตามด้วย และรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้นหากเป็นไปได้ห้ามท้องเสียเด็ดขาด แนะนำให้ทานอาหารที่ปรุงสุกสดใหม่เพื่อป้องกันแบคทีเรียในอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ, ของหมักดอง, อาหารประเภทยำ, ส้มตำ, ปูดอง และอาหารทะเล รวมถึงอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อน เช่น ผลไม้บางชนิดที่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงและอาหารแปรรูป เช่น แหนม, ไส้กรอก, ลูกชิ้น, อาหารที่ใส่สีผสมอาหารหรือใส่ผงชูรส เน้นการทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีนและวิตามินแร่ธาตุต่างๆ ที่ช่วยบำรุงร่างกายให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์


9. ห้ามเป็นหวัด


เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่ไอหรือจามอย่างรุนแรง ซึ่งจะต้องเกร็งหน้าท้อง และกระทบกระเทือนไปถึงตัวอ่อนได้ และห้ามเจ็บป่วยทุกชนิด เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและส่งผลเสียต่อตัวอ่อนในครรภ์


10. ห้ามนอนดึก


เมื่อคุณแม่นอนดึกจะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล ซึ่งจะมีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้นหลังจากใส่ตัวอ่อนคุณแม่ควรนอนไม่เกิน 4 ทุ่ม หากมีเหตุให้นอนดึกจะทำให้แสงบลูไลท์จากจอมือถือไปกระตุ้นรูม่านตา ทำให้สมองและร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัวและผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือ “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” ออกมา ถ้าหากร่างกายหลั่งคอติซอลมากเกินไป จะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในระบบสืบพันธ์ุ ส่งผลให้เกิดภาวะไข่ไม่ตกและทำให้ไข่เจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ รวมถึงไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวที่มดลูกยากขึ้นด้วยค่ะ


11. ห้ามเครียด


แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแต่ความเครียดเป็นตัวการร้ายที่ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวไม่ได้และเพิ่มโอกาสแท้งบุตรอีกด้วย เมื่อคุณแม่เครียด ร่างกายจะกระตุ้นการผลิตสารเคมีและฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแคบลงและนำออกซิเจนไปเลี้ยงมดลูกไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนโดยตรง มีรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับคุณแม่ที่มีความเครียดระหว่างครรภ์ด้วยว่า ทารกที่คลอดจากแม่ที่มีภาวะความเครียดสูง มักคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์


ทางที่ดีคุณแม่ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย, ปล่อยวางจากสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความกังวลว่าจะท้องหรือไม่? แนะนำการทำสมาธิบำบัดก่อนนอน, สวดมนต์หรืออ่านหนังสือ เลือกดูซีรีส์สนุกๆ ช่วยลดความเครียดได้ ส่วนคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับความเครียด อาจจะหาคนมาเป็นแบคอัพให้ไปก่อน ทั้งนี้ห้ามตรวจปัสสาวะก่อนกำหนดด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เครียดกว่าเดิมเข้าไปอีก ควรอดใจรอเจาะเลือดในวันนัดทีเดียวจะดีที่สุดค่ะ


12. ห้ามเข้าไปในพื้นที่แออัด


อีก 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อการฝังตัวของตัวอ่อนคือการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด, แหล่งชุมชน หรือเยี่ยมคนป่วยที่โรงพยาบาล เพราะพื้นที่เหล่านี้มีผู้คนมากมาย จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค, ไวรัส หรือไข้หวัด รวมถึงสารพิษจากควันบุหรี่ที่มีผลต่อการทำลายตัวอ่อนได้ ครูก้อยแนะนำให้อยู่บ้านในช่วงนี้ไปก่อน นอนพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยค่ะ


13. ห้ามประคบร้อนหรือซาวน่า


หลังจากใส่ตัวอ่อนแล้วห้ามประคบร้อนบริเวณหน้าท้อง หรืออบซาวน่าเด็ดขาด รวมถึงการเตรียมผนังมดลูกก่อนใส่ตัวอ่อนด้วยการทำ Castor Oil Pack เพื่อบำบัดมดลูกนั้นควรหยุดไปก่อนค่ะ เพราะความร้อนจะทำลายเซลล์ตัวอ่อนจนยุติการตั้งครรภ์ ทางที่ดีควรรักษาอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติ แต่ถึงอย่างไรหากคุณแม่อยากอาบน้ำอุ่นก็สามารถทำได้ โดยอุณหภูมิร่างกายไม่ควรเกิน 37 องศา และไม่ควรลงไปแช่อ่างเป็นเวลานาน


14. ห้ามทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์


หากเจ็บป่วยในช่วงนี้ ครูก้อยไม่แนะนำให้ซื้อยามาทานเอง ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ไอ, ยาลดเสมหะ, ยาอมแก้เจ็บคอ หรือยาแก้แพ้ก็ตาม และปรึกษาแนวทางการรักษาจากแพทย์ทันทีที่เจ็บป่วย เพราะยาบางชนิดมีผลต่อการทำลายตัวอ่อนด้วย


15. ห้ามลืมทานหรือสอดยาฮอร์โมน


ห้ามลืมกิน, แปะ หรือสอดยา ตามคำแนะนำของแพทย์โดยเด็ดขาด เนื่องจากยาเหล่านี้เป็นยาฮอร์โมน ประเภทโปรเจสเตอร์โรนและเอสโตรเจน ช่วยบำรุงผนังมดลูกให้หนาตัวขึ้นเพื่อโอบอุ้มและประคองครรภ์ ยาเหล่านี้มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนอย่างยิ่ง ถ้ากลัวลืมแนะนำให้ตั้งนาฬิกาปลุกเตือนไว้หรือแปะโพสอิทเอาไว้ตามที่ที่คุณแม่เดินผ่านบ่อยๆ เมื่อถึงเวลาควรกินหรือสอดยาให้ตรงเวลา บวก-ลบไม่ควรเกิน 1-2 ชม. ในกรณีที่ต้องสอดยาเข้าไปในช่องคลอด ควรสอดให้สุดข้อนิ้ว หากสอดเสร็จแล้วให้นอนราบไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ตัวยาไม่หลุดออกมา


16. ห้ามขึ้-ลงบันได


การขึ้นลงบันไดทำให้ร่างกายเกร็งหน้าท้องโดยอัตโนมัติ หากไม่จำเป็นไม่ควรขึ้นลงบันไดในช่วงนี้ค่ะ ทางที่ดีคุณแม่ควรเตรียมที่นอนสำหรับนอนชั้นล่างจะดีที่สุด หากต้องอยู่ชั้นบนก็ให้เดินขึ้นรอบเดียวแล้วอยู่ข้างบนยาวๆ ไปอีก 7-10 วันค่ะ ทั้งนี้ควรเตรียมอาหารการกินและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้พร้อม เช่น ตู้เย็น, ไมโครเวฟ ฯลฯ เผื่อกรณีที่ไม่มีใครไม่อยู่บ้านก็ไม่ต้องกังวลเรื่องของกินแต่อย่างใด


17. ห้ามเกร็งหน้าท้อง


ช่วงนี้ห้ามขยับทุกอย่างที่อาจทำให้มดลูกบีบตัว พยายามอย่าเกร็งหน้าท้อง หากมีกิจกรรมไหนที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องครูก้อยขอให้งดไปก่อนนะคะ หากต้องลุกจากที่นอนแนะนำให้ตะแคงโดยใช้ศอกยันขึ้นมาก่อน อย่าดีดตัวขึ้นมาเหมือนการซิทอัพ เพราะจะกลายเป็นการเกร็งหน้าท้องโดยอัตโนมัติ ทางที่ดีอย่าเพิ่งออกกำลังกายหรือยกของหนัก หรือแม้แต่การนั่งยองๆ หรือหัวเราะเบาๆ ไปก่อนนะคะ


18. ห้ามใช้เคมี


หลังจากใส่ตัวอ่อนควรงดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีผสมทุกชนิด หากเป็นเครื่องสำอางควรเลือกสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ (แบบออร์แกนิก) และไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือกรดวิตามินเอเพื่อความปลอดภัยต่อแม่และลูกค่ะ นอกจากนี้อาจใช้เป็นโลชั่นทาผิวใช้น้ำมันมะพร้าวแทนได้เลยค่ะ ในส่วนของครีมอาบน้ำควรใช้ครีมอาบน้ำสำหรับเด็กได้ยิ่งดี ส่วนแชมพูครูก้อยขอแนะนำให้ใช้แบบสมุนไพร โดยเฉพาะแชมพู ครีมนวด ควรทำจากมะกรูดเพื่อการบำรุงที่ดียิ่งขึ้นค่ะ


19. ห้ามกินของดิบ


ไม่ว่าจะเป็นซูชิ, แซลมอน, ไข่ลวก, ลาบ, ส้มตำปูปลาร้า, ปูดอง แนะนำให้งดไปก่อนค่ะ เพราะเสี่ยงต่อเชื้อโรคหรือแบคทีเรียแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย อาจทำให้คุณแม่ท้องเสีย, ท้องร่วง หากต้องขับถ่ายบ่อยๆ จะทำให้ลำไส้บีบรัดและมดลูกบีบตัว ส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน


20. ห้ามเทสต์ hCG ก่อน


ในทางการแพทย์หลังใส่ตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ประมาณ 10-12 วันหมอจะนัดเจาะเลือดค่ะ แต่จริงๆแล้วถ้าตัวอ่อนระยะนี้ฝังตัวได้ เร็วที่สุดที่จะเทสเองด้วยชุดทดสอบฮอร์โมนจากปัสสาวะ คือ 7 วันหลังใส่ หากแม่ๆแอบเทสก่อนหมอนัดอาจจะเห็น 2 ขีดจางๆได้ (ถ้าติดนะ) แต่บางคนก็อาจจะยังไม่ขึ้น เพราะความสตรองของฮอร์โมนแตกต่างกันเราอาจจะท้องก็ได้นะคะแต่มันยังไม่ถึงเวลาที่จะเทสเจอ แต่มันยังไม่แน่นอนค่ะ ยังเป็น weakly positive ต้องดับเบิ้ลเช็คอีกรอบ จะทำเอาเครียดเสียเปล่าๆ และความเครียดนี่แหละที่จะส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนค่ะ ดังนั้นไปพบแพทย์ตามนัด ให้หมอเช็คให้ชัวร์ เจาะเลือดไปเลยทีเดียว รู้ผลแน่นอน สบายใจกว่าค่ะ


ใครอ่านจบ ครบ 20 ข้อ แล้วปฏิบัติตามนี้ขอให้มีข่าวดีกันถ้วนหน้านะค้า อย่าลืมแชร์ออกไปด้วยค่ะ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น บุญกุศลจากการแบ่งปันความรู้จะนำมาสู่การตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง


บทความที่น่าสนใจ




ดู 31 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page