top of page
ค้นหา

7 สาเหตุที่ทำให้คุณแม่เกิดภาวะไข่ไม่ตก

ภาวะไข่ไม่ตกนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ๆ หลายคนมีลูกยาก วันนี้ครูก้อยจะพามาเช็กสาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าว เพื่อการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี


ภาวะไข่ไม่ตกคืออะไร ทำไมคุณแม่อยากท้องต้องระวัง


เป็นภาวะที่ไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่เนื่องจากฟอลลิเคิลในรังไข่ไม่เจริญเติบโต ทำให้ร่างกายไม่สร้างคอร์ปัสลูเตียมสำหรับสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ในกรณีที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังอาจมีประจำเดือนออกมาแบบกะปริดกะปรอย นอกจากนี้ยังมีภาวะตกไข่น้อยที่มีลักษณะของประจำเดือนที่ขาดหายไปบ้าง พบได้ถึง 40% ของคุณแม่ที่มีบุตรยาก


7 สาเหตุของภาวะไข่ไม่ตก


1. ถุงน้ำรังไข่หลายใบ


เกิดจากระบบต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนต่างๆ อยู่ในภาวะไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอนโดรเจน และอินซูลิน และสร้างถุงน้ำขนาดเล็กขึ้นมาจำนวนมากในรังไข่ ส่งผลให้ไข่ไม่ตก ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้นง่ายกว่าเดิม รวมถึงมีลูกยากอีกด้วย


2. น้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป


หากคุณแม่ดูแลตัวเองไม่ดีอาจทำให้มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยากมีลูกแต่อ้วนลงพุง เมื่อไขมันมากเกินไปจะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน ทำให้การควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงผิดไปจากเดิม ส่วนใครที่น้ำหนักตัวน้อยเกินไป จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยจากเดิม ทั้งนี้เราสามารถรักษาภาวะไข่ไม่ตกได้ด้วยการดูแลและควบคุมน้ำหนักให้พอดีตามเกณฑ์มาตรฐาน เพียงแค่ลดน้ำหนัก 10% จากเดิมก็ช่วยให้ตกไข่ได้เป็นปกติ


3. ระดับโปรแลคตินสูง


ฮอร์โมนโปรแลคตินผลิตออกมาจากสมองส่วนหน้าเพื่อกระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนมเพื่อเลี้ยงทารก หากระดับโปรแลคตินสูงจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนล่างหรือเนื้องอกของต่อมใต้สมอง หรือโรคของต่อมธัยรอยด์ อาจไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) และ LH (Luteinizing hormone) เมื่อฮอร์โมน FSH และ LH ลดลง การกระตุ้นการทำงานของรังไข่จึงลดลง ทำให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนลดลงและไม่ตกไข่ โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะต้องมีค่าปกติน้อยกว่า 25 mcg/L


ทั้งนี้ภาวะโปรแลคตินอาจเกิดสูงขึ้นได้ในผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์และไม่ได้ให้นมบุตร โดยมีความรุนแรงต่างกันตามระดับของฮอร์โมนและปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายตั้งแต่ตกไข่ปกติ, ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ, ระดับโปรเจสเตอโรนต่ำแม้จะมีตกไข่, อาจไม่ตกไข่เลย บางครั้งประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือน


4. รังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร


ถือเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 40 ปี มีอาการขาดระดู, ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ และฮอร์โมนโกนาโดโทรปินอยู่ในระดับเดียวกับผู้หญิงวัยหมดระดู ไข่จึงไม่ตกหรือตกไข่ผิดปกติ โดยมีอัตราพบเพียง

  • 1% ในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

  • 0.1% ในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี

  • 0.01% ในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี


5. ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน


เกิดจากฮอร์โมนผิดปกติมากเกินไปจนทำให้ร่างกายต้องเผาผลาญมากขึ้น ก่อให้เกิดอาการวิตกกังวล, นอนไม่หลับ, อ่อนเพลียง่าย, ขี้ร้อนเหงื่อออกเยอะ, ตาโปน, ผมร่วง, น้ำหนักลด หรือแม้แต่ต่อมไทรอยด์บวมโต โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงมีโอกาสมีภาวะนี้มากกว่าผู้ชายถึง 10 เท่า เริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 20-40 ปี หากปล่อยไว้นาน ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือน ส่งผลให้ไข่ไม่ตกและมีลูกยาก


6. ออกกำลังกายหักโหมเกินไป


การออกกำลังกายหักโหมเกินไปส่งผลให้ระบบในร่างกายหลายๆ อย่างเสียสมดุล ไม่ว่าจะเป็นระบบกล้ามเนื้อ, ระบบสมองและต่อมใต้สมอง มีผลต่อระบบฮอร์โมนเอสโตรเจน, โปรเจสเตอร์โรน จนทำให้รังไข่ทำงานผิดปกติ, ตกไข่ผิดปกติ, ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรืออาจขาดประจำเดือนได้


7. ความเครียด


ฮอร์โมนจากความเครียดส่งผลต่อสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่ทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของระบบสืบพันธุ์ ทำให้ฟองไข่ในรังไข่พัฒนาผิดปกติ, ไข่เจริญไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ไม่ตกไข่ ส่วนไข่ที่ปฏิสนธินั้นฝังตัวที่มดลูกยากขึ้น นอกจากนี้การนอนไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดความเครียดในระยะยาวและสร้างฮอร์โมน Luteinizing Hormone (LH) ผิดปกติ ส่งผลให้รอบเดือนไม่ปกติ ไข่ไม่ตกหรือไข่ตกไม่สม่ำเสมอ


บทความที่น่าสนใจ

ดู 61 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page